จุดประสงค์

บล๊อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนวิชา อินเตอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน หวังว่าผู้ที่เข้ามาศึกษา จะได้ความรู้ความบันเทิงจาก บล๊อกของข้าพเจ้า ไม่มากก็น้อย

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

GMO พันธุวิศวกรรมศาสตร์ นางฟ้า หรือ ซาตาน

หน้าที่ 1 - บทนำ
GMO

ประมาณ 40 ปีที่แล้วในประเทศกำลังพัฒนามีประชาชนผู้หิวโหยอยู่ประมาณ 1000 ล้านคน ซึ่งก็คิดเป็นจำนวนถึง 50% ของประชาการทั้งหมดในประเทศที่กำลังพัฒนานี้ หากว่าอัตราส่วนนี้ไม่เปลี่ยน นั่นก็เท่ากับว่าในปัจจุบันเราจะมีประชาการ ที่ได้รับอาหารไม่เพียงพอต่อวัน เป็นจำนวนเท่ากับ 2000 ล้านคน แต่แท้ที่จริงจากการสำรวจล่าสุดมีเพียงแค่ 800 ล้านคน

บางท่านอาจจะเคยได้ยิน The Green Revolution ซึ่งก็คือการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โครงการนี้ได้ถูกเริ่มในปี 1960 พีชที่ได้ถูกปรับปรุงประกอบไปด้วย ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต หลังจากนั้นไม่นานผลที่ได้ในการเก็บเกี่ยวก็เพิ่มขึ้นในระดับที่ มากกว่าอัตราการเพิ่มของประชากร ผลประโยชน์ต่อเนื่องอีกอย่างหนึ่งคือ ราคาของผลผลิดลดลง จำนวนเงินที่ใช้ในการซื้ออาหารก็ลดลงตามลำดับ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประเทศที่มีผลผลิดเหลือก็สามารถส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศได้ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ อัตราการเพิ่มของผลผลิดลดลง เมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มของประชากร ในประเทศที่กำลังพัฒนา สาเหตุที่อัตราการเพิ่มของผลผลิตลดลงก็มีหลายอย่าง สาเหตุใหญ่ก็คือคุณภาพของดินที่ลดลงเนื่องจากการทำเกษตรกรรมนั่นเอง ซึ่งก็เป็นปกติ

เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นผลิตอาหารมากกว่าความต้องการภายในประเทศ แต่ว่าการส่งออกอาหาจจากประเทศเหล่านี้ไปยังประเทศกำลังพัฒนา นั้นไม่ใช่ทางออก จากที่ผ่านๆมา มันเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้โครงสร้างของตลาด หรือการค้าขายในการจัดสรรและกระจายผลผลิต สู่ประเทศยากจน เนื่องจากเป้าหมายของตลาดคือผลกำไร จะเห็นได้ว่าประชาชนที่จะได้รับผลประโยชน์ก็คือประชาชนในเมืองนั่นเอง จาก 800 ล้านคนที่รับอาหารไม่เพียงพอนั้น เพียงแค่ 130 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ที่เหลือกระจัดกระจาย อยู่ในชนบทที่ห่างใกลซึ่งสามารถเข้าถึงเฉพาะผลผลิตในท้องถิ่นนั้นเท่านั้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดทุกข้อ จะเห็นว่าเราต้องการ Green Revolution ครั้งที่ 2 โดยที่ผลผลิตนั้นจะต้องเพิ่มขึ้นและจะต้องไม่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หลายคนเชื่อว่านี่สามารถที่จะทำได้ หากใช้การเกษตรแบบเพียงพอ (sustainanle agriculture) พร้อมกับความร่วมมือจากเกษตรกรที่ดีในการค้นคว้า และนำพันธุ์พืชไปใช้อย่างถูกวิธิ พร้อมกับการใช้ Bio-technology สมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตโดยตรง

บทความที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเกี่ยวกับ Bio-technology ทั้งหมดที่เกี่ยวกับ GMO (พันธุวิศวกรรมศาสตร์ ) เราจะแนะนำท่านสู่เทคโนโลยีอันนี้ พร้อมกับบรรยายถึงผลดี ผลเสีย และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน (ไม่เน้นเฉพาะประเทศไทย)





หน้าที่ 2 - GMO คืออะไร
ทำไมถึงได้มีการต่อต้านกันนัก? ได้ยินมานานนักหนาจากหน้าหนังสือพิมท์ โทรทัศท์ ที่ผ่านมาเราได้เห็นเฉพาะที่สื่อมวลชนทั้งหลายนำเสนอ วันนี้เราขอนำเสนอ จีเอ็มโอโดยตรงจากนักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุศาสตร์ เราจะมาเริ่มทำความเข้าใจกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ความรู้พื้นฐานที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทราบกันมานาน และนำมาใช้ในการสร้าง จีเอ็มโอ 

ก่อนอื่นต้องขอพูดถึง DNA ดีเอ็นเอก็คือสารพันธุกรรมที่เป็นตัวส่งข่าวสารจากพ่อ แม่ไปสู่ลูก ทบทวนกันสักนิด "ดีเอ็นเอ" ก็ย่อมาจาก Deoxyribonucleic acid เป็นส่วนประกอบพื้นฐานสำหรับสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด ดีเอ็นเอ ประกอบไปด้วย โมเลกุล 4 ชนิด ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า nucleotides โมเลกุลทั้ง 4 ชนิดนั้นเหมือนกันตรงที่ ต่างก็มี น้ำตาล(Deoxyribose) และ กลุ่ม ฟอสเฟต (phosphase) แต่จะต่างกันตรงชนิดของ กลุ่ม เบส (base) ที่ติดอยู่กับแต่ละโมเลกุล ว่าจะเป็น A (จาก Adenine), G (จาก Guanine), C (Cytosine) หรือ T (thymine)จะว่ากันแบบง่าย ๆ 

ดีเอ็นเอก็มีลักษณะเหมือนเชือกสองเส้นที่ขนานกัน (ดังในรูป ด้านซ้าย) แล้วแต่ละเส้น จะมีโมเลกุล 4 ชนิดคล้ายลูกปัดร้อยอยู่ แต่ละโมเลกุลจะมี A, G, T หรือ C ติดอยู่ อันดับในการเรียงของลูกปัด หรือ โมเลกุล เหล่านี้ มี ความสำคัญมาก (คำอธิบายอยู่ข้างล่าง) เชือกสองเส้นนี้ติดกันอยู่โดยพลังดูดระหว่าง คู่เบส (จำได้หรือเปล่าว่าเบสก็คืv A, T, G หรือ C) ที่อยู่บนเชือกสองเส้น โดย A จะดูดกับ T และ G จะ ดูดกับ C ด้วยแรงดูดระหว่าง คู่เบส (A คุ่กับ T และ G คู่กับ C)และโครงสร้างเฉพาะตัวของแต่ละ nucleotide (เป็นคำรวมเรียกโมเลกุลน้ำตาลและเบศที่เกาะกับน้ำตาลอันนั้น) นี้ทำให้โครงสร้างของ ดีเอ็นเอ มีลักษณะเป็น double helix (double=สอง helix=เส้นเกลียว) หรือเป็น เกลียว 2 เส้นที่ขนานกัน ดังในรูป 

แล้วดีเอ็นเอนี่ทำอะไรในร่างกายของสิ่งมีชีวิต?คำถามนี้ก็มีคนได้พยายามตอบกันมานานมาก เราก็โชคดีที่บรรพบุรุษผู้ขยันนั้นได้หาคำตอบที่มีการพิสูจน์แล้วว่าจริง มาให้เราเรียบร้อย มาฟังคำตอบกันใน Central Dogma ในวิชาพันธุศาสตร์ (Genetics)

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า dogma นั้นใช้กับสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ แต่ central dogma ในวิชาพันธุศาสตร์นั้นได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง ใน central dogma นี้ หน้าที่ของ ดีเอ็นเอนั้นคือ เป็นพิมพ์เขียว ในกระบวนการ replication เพื่อที่จะสร้าง ดีเอ็นเอเพิ่มขึ้น กระบวนการ replication นั้นก็คล้ายวิธี ถ่ายเอกสารในแง่ที่เราเพิ่มจำนวน ของสิ่งที่เรามีอยู่ให้มีมากขึ้นโดยอาศัยข้อมูลที่บรรจุในเอกสารอันเก่านั้น ในกระบวนการ replication นั้นเราไม่ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร หากเราใช้สิ่งที่เรียกว่า enzymes ซึ่ง ก็คือโปรตีนที่สามารถก่อให้เกิดหรือเร่ง ปฏิกิริยาทางเคมีต่าง ๆ ได้แบบเฉพาะตัว ใน replication เอ็นไซม์ที่ทำหน้าที่ก็ได้รับชื่อเฉพาะว่า DNA polymerase (สร้างโพลิเมอร์ของ ดีเอ็นเอ โดยที่คำว่าโพลิเมอร์หมายถึงสิ่งหรือสารที่สร้างมาจากการเรียงตัวกันหลาย ๆ อันของสิ่งใดสิ่งหนี่งที่มีขนาดเล็กกว่า) นอกเหนือ จากเป็นพิมพ์เขียว สำหรับ replication ดีเอ็นเอ ยังเป็นพิมพ์เขียว ในขบวนการ transcription (transcript เป็นคำนามของสิ่งที่ผ่านการ transcribe ซึงก็คือการแปลข้อมูลนั่นเอง) ดังนั้น transcription ในที่นี้ก็คือการแปลข้อมูลจากภาษา ดีเอ็นเอ เป็น ภาษา อาร์เอ็นเอ โดยใช้ เอ็นไซม์ RNA polymerase (สร้างโพลิเมอร์ของ อาร์เอ็นเอ) 



"อาร์เอ็นเอ"
 นั้นย่อมาจาก ribonucleic acid (จะเห็นได้ว่า คำเต็มคล้ายๆ กับของดีเอ็นเอ ต่างกันตรงที่ ดีเอ็นเอมี Deoxy- เติมอยู่ตรงข้างหน้า ซึ่งมาจากความที่ ดีเอ็นเอมี -H เกาะอยู่กับ C ตัวที่ 2 ในน้ำตาล หาก อาร์เอ็นเอมี -OH เกาะอยู่) โครงสร้างของ อาร์เอ็นเอนั้นคล้ายกับ ดีเอ็นเอ หากต่างกันตรงที่ ชนิดของ น้ำตาล (อาร์เอ็นเอนั้นเป็นน้ำตาล ribose แต่ ดีเอ็นเอเป็น Deoxyribose ต่างกันตรว -OH กับ -H) และ T ใน ดีเอ็นเอจะถูกแปรเป็น U (Uracil) ในอาร์เอ็นเอ หน้าที่ของอาร์เอ็นเอ ก็คือเป็นพิมพ์เขียว ในการสร้าง โปรตีน โดยที่จะสร้างโปรตีนอะไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าอันดับของเบส (A, T, G or C) บนสายอาร์เอ็นเอ (ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับบน ดีเอ็นเอ) และขบวนการสร้างโปรตีนนี้เรียกว่า translation โดยอาศัยกลุ่มเอ็นไซม์ที่ชื่อว่า ribosome ส่วนของ ดีเอ็นเอ ที่เมื่อผ่านการ transcription และ translation แล้ว ได้ โปรตีน 1 โปรตีนเรียกว่า 1 ยีน (gene) โดยส่วนมากแล้วจะตั้งชื่อของ ยีน ต่าง ๆ ตามหน้าที่ของโปรตีนที่สร้างมาจากข้อมูลในยีนนั้น ๆในเซลล์ ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตต่างชนิด จะมีปริมาณและจำนวนของยีน ต่างกัน ส่วนมากปริมาณของดีเอ็นเอจะพูดกันในหน่วยที่ เรียกว่า basepair (bp) โดยที่ 1 bp หมายถึง 1 คู่ของ nucleotide หรือ 1 คู่ของเบส (อย่าลืมว่า ดีเอ็นเอเป็นสายสองเส้นขนานกัน 1 คู่ในที่นี้หมายถึง คู่ของ A-T หรือ คู่ของ G-C) นั่นเอง (เพราะ 1 nucleotide มี 1 เบส) มนุษย์เรานั้น มีดีเอ็นเอประมาณ 3x10^9 bp สิ่งที่น่ารู้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ดีเอ็นเอในสิ่งมีชีวิตนั้นมีการจัดเรียงต่างกัน เช่นในแบคทีเรีย ดีเอ็นเอจะเรียงตัวเป็นวงกลม (นึกถึงยางวงที่เราเล่นเป่ากบกัน) แต่ในมนุษย์ ยีสต์หรือสัตว์ที่สูงขึ้นมา ดีเอ็นเอจะจัดตัวเป็นเส้น ๆ เรียกว่า โครโมโซม (chromosome) แล้วจำนวนของโครโมโซมเนี่ยก็จะจำเพาะในแต่ละ สปีชี (specie) มนุษย์เราจะมี 46 โครโมโซม (22 คู่ และ 2 โครโมโซมที่ควบคุมลักษณะทางเพศ โดยที่ X ควบคุมลักษณะเพศหญิง และ Y ควบคุมลักษณะเพศชาย) ในรูปด้านซ้ายมือ แต่ละโครโมโซมได้ผ่านการ replication แล้วเราจึงเห็น โครโมโซม 2 เส้นติดกันอยู่แต่ถ้านับแล้วควรจะครบ 46 อัน 

แต่ในแมลงหวี่ จะมี 8 โครโมโซม (3 คู่ และ 2 โครโมโซมที่ควบคุมเพศ) สิ่งมีชีวิตที่มีโครโมโซม 2 ชุด (copy) เช่น มนุษย์ และแมลงหวี่ โดยที่หนึ่งชุดมาจากพ่อ และอีกหนึ่งชุดมาจากแม่ เรียกว่า เป็นพวก diploid แต่ในสิ่งมีชีวิตที่มี แค่ 1 copy เช่น แบคทีเรียซึ่งมีโครโมโซมเป็นวงกลม 1 วง จะ จัดเป็นพวก haploid เนื่องจากเซลล์ของ มนุษย์ พืช และ สัตว์อื่นๆ โดยทั่วไป นั้นมีขนาดเล็กมาก (1-10 micrometer ) ดีเอ็นเอจึงต้องมีการ จัดตัวให้ดี (ดีเอ็นเอของมนุษย์มีความยาวประมาณ 2 เมตร) และการจัดตัวของ ดีเอ็นเอนี้สำเร็จล่วงไปได้ด้วยเจ้า โปรตีนที่ชื่อ ฮิสโตน (histone) 





หน้าที่ 3 - เทคโนโลยีเบื้องหลังจีเอ็มโอ
อย่าเพิ่งตาลายกันนะคะท่านผู้อ่าน ตอนนี้เราก็มาเข้าเรื่องจีเอ็มโอกันดีกว่า ก่อนที่จะเหนื่อยอ่านต่อไม่ไหว จีเอ็มโอ (GMO) เป็นคำย่อมาจาก Genetically Modified Organisms ซึ่งใช้เรียก กลุ่มสิ่งมีชีวิต (organism) ที่ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม (genetic make up)ในห้องทดลอง วิธีการในการตัดต่อดีเอ็นเอเรียกว่า Recombinant DNA technology ซึ่งสามารถใช้ในการตัดหรือต่อ ดีเอ็นเอระหว่างสิ่งมีชีวิตจำพวกเดียวกัน หรือระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างจำพวกก็ได้ Recombinant DNA technology เริ่มต้นด้วยการค้นพบ restriction enzyme ซึ่งก็คือ เอ็นไซม์ที่สามารถตัด ดีเอ็นเอเฉพาะที่ 



ตัวอย่างเช่น EcoRI เอ็นไซม์จะตัดดีเอ็นเอเฉพาะตรงที่มี nucleotide G, A, T, C เรียงกันแบบเฉพาะดังในรูป จะเห็นว่าในรูปมีเบสเรียงกันอยู่สองเส้นขนานกัน เพราะว่าดีเอ็นเอเป็นเส้นขนานกัน 2 เส้น แต่ทั้งสองเส้นจะมีทิศทางตรงข้ามกัน 5' และ 3' เป็นการบอกทิทาง 

ดีเอ็นเอที่ขาดจะกลับมาต่อกันได้ใหม่โดย เอ็นไซม์ที่ชื่อ Ligase เอ็นไซม์ที่ใช้ใน การตัดต่อเปลี่ยนแปลง ดีเอ็นเอต่าง ๆ เหล่านี้ได้มาจากการสกัดมาจากสิ่งมีชีวิต ในธรรมชาติทั้งสิ้น (ส่วนมากจะมาจากแบคทีเรีย) และที่สำคัญก็คือกระบวนการตัดต่อดีเอ็นเอระหว่างสิ่งมีชีวิต เป็นสิ่งเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว จะขอยกตัวอย่าง กระบวนการที่เรียกว่า Transduction 

ในกระบวนการนี้ Phage P1 ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถ infect แบคทีเรีย ไวรัสนี้จะจับกับผนังด้านนอก ของแบคทีเรีย แล้วฉีดดีเอ็นเอของตัวเอง เข้าไปในแบคทีเรีย (ดีเอ็นเอของเฟจT1จะมีสีเขียว ส่วนดีเอ็นเอของแบคมีเรียจะมีสีน้ำเงิน ส่วนสีชมพูนั้นคือดีเอ็นเอของแบคมีเรีย ส่วนที่เราสนใจอยู่ ในรูป) ดีเอ็นเอจากไวรัสนี้จะสามารถสร้างโปรตีน โดยอาศัยวัตถุดิบต่าง ๆ จาก แบคทีเรีย โปรตีนเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่าง ๆ กันไปแต่จะมีส่วนหนึ่งซึ่งสามารถตัดดีเอ็นเอ ของแบคที่เรียให้เป็นชิ้น ๆ โปรตีนส่วนที่เหลือส่วนมากจะเป็นวัตถุดิบในการให้กำเนิดลูก ๆไวรัส ในขบวนการให้กำเนิดลูก ๆ นี้จะมีการบรรจุดีเอ็นเอของเฟจ ที่ผ่านการ replication (ไม่ถูกตัดเป็นชิ้น ๆ เพราะมีวิธีป้องกันไว้)เข้าไปในโครงสร้างที่เรียกว่าหัวของไวรัส (สีขาวหกเหลี่ยมในรูป) และบางครั้งดีเอ็นเอจากแบคทีเรียจะถูกบรรจุเข้าไปด้วย (ส่วนที่เป็นสีน้ำเงนและชมพูในรูป) และเมื่อไวรัสตัวนี้ไป infect แบคทีเรียตัวที่2 มันก็จะนำดีเอ็นเอจากตัวแรก (แบคทีเรีย1) ไปใส่ในแบคทีเรีย 2 ถ้าหากดีเอ็นเอที่เข้ามาเพิ่มมีอันดับการเรียงตัว ของ nucleotides เดียวกับของในแบคทีเรียตัวที่ 2 ขบวนการที่เรียกว่า Homologous Recombination ซึ่งเป็นขบวนการที่เอ็นไซม์ในเซลล์ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนดีเอ็นเอระหว่างส่วนที่มีอันดับคล้ายกัน ของแบคทีเรียตัวที่2 และดีเอ็นเอที่รับมาจาก phage หลังจากขบวนการแลกเปลี่ยนนี้ แบคทีเรียตัวที่2 จะได้รับบางส่วน (สีชมพู) จากตัวที่ 1 หากส่วนสีชมพูนี้บรรจุข้อมูลในการสร้างโปรตีนอย่างครบถ้วนแล้ว แบคทีเรีย2 ก็สามารถอาศัยข้อมูลี้ในการสร้างโปรตีนนั้น ๆ ได้ และดีเอ็นเอที่เข้ามาในแบคทีเรียตัวที่ 2 โดยอาศัย phage ในกรณีนี้ จะเรียกแทนว่า transgene เพราะเป็นดีเอ็นเอที่มีแหล่งกำเนิดจากภายนอก และหลังจากที่ แบคทีเรีย 2 ได้รับยีนจาก 1 เข้าไป แล้ว มันจะถูกเรียกว่า transgenic organism หรือ genetically modified organism เพราะว่าสารพันธุกรรม (DNA)ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป 

Gene transfer technology

หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีการแลกเปลี่ยนยีนระหว่างสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขั้นต่อไปก็คือหาวิธีที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในห้องทดลองซึ่งก็จะอาศัยเอ็นไซม์ต่างๆ ทีมีอยู่ในธรรมชาติ เมื่อสามารถที่จะตัดหรือต่อดีเอ็นเอได้ตามใจโดยอาศัย restriction enzyme ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ขั้นต่อไปในการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ก็คือ การใส่ transgene ที่ทำในหลอดทดลองเข้าไปในสิ่งมีชีวิตที่เราศึกษาอยู่โดยอาศัย gene transfer technologies ซึ่งก็คือวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ในการใส่ ดีเอ็นเอที่เราทำการเปลี่ยนแปลง (trangene) เข้าไปในสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นวิธีการหลายวิธีขึ้นมา แต่ในที่นี้จะขอเล่าเพียงคร่าว ๆ ก่อน

๑) machine gun ฟังชี่อแล้วก็สามารถเดาได้ ว่าวิธีนี้ ใช้ปืน หากแต่ปืนที่ใช้จะอาศัยแรงลมในการผลักดันกระสุน และ กระสุนในที่นี้ก็ไม่ใช่ลูกตะกั่วที่เราคุ้น หากเป็น ทองก้อนเล็กมาก ๆ ที่เคลือบด้วยดีเอ็นเอที่เราต้องการจะใส่ไปในสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โดยมากวิธีนี้จะใช้กับพืช

๒) microinjection อีกแล้ว เมื่อฟังดูก็จะนึกถึงเข็มฉีดยาหากแต่ต้องเป็นเข็มที่เล็กมาก ในวิธีนี้ดีเอ็นเอจะถูกฉีดเข้าไปในนิวเคลียสโดยตรง ส่วนมากจะใช้กับสัตว์ วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ใช้ใน in vitro fertilization หรือการผสมเทียม (in vitro หมายถึงเกิดขึ้นภายนอก สิ่งมีชีวิต ส่วน in vivo หมายถึงเกิดขึ้นภายในสิ่งมีชีวิต)

๓) lipofection ในวิธีนี้ ดีเอ็นเอที่ถูกเคลือบ (encapsulate) ด้วยไขมัน จะใส่ไปในหลอดทดลองที่มีเซลล์อยู่ ดีเอ็นเอจะเข้าไปในเซลล์ได้ เพราะ ไขมันที่เคลือบดีเอ็นเอนั้น จะ รวมตัว (fuse) กับ เซลล์เมมเบรน (ซึ่งประกอบไปด้วยไขมันเป็นส่วนมาก) 

๔) electroporation เป็นวิธีที่อาศัยไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านเซลล์ รูในเยื่อหุ้มเซลล์จะเปิดกว้างขึ้น เพราะฉะนั้น ดีเอ็นเอที่อยู่ภายนอกเซลล์ใน หลอดทดลองจะสามารถเข้าไปได้ วิธีนี้จะใช้กับแบคทีเรียเป็นส่วนมาก

๕) heat shock เมื่ออุณหภูมิของเซลล์เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จะ ทำให้รูในเยื่อหุ้มมีขนาดต่างกันไปด้วย ดีเอ็นเอจะสามารถเข้าไปได้ คล้าย ๆ กับ วิธี electroporation 

๖) Agrobacterium transformation วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ในการใส่ดีเอ็นเอเข้าไปในต้นไม้ โดยอาศัยแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Agrobacterium ซึ่งเป็นวิธีที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในธรรมชาติ หากแต่ก่อนหน้าที่จะใช้ วิธีนี้ นักวิยาศาสตร์จะต้อง ใช้วิธีอื่นเพื่อที่จะใส่ transgene เข้าไปใน Agrobacterium เสียก่อน Agrobacterium transformation นี้เป็นวิธีที่ใช้อย่างแพร่ หลายในการ ทำ transgenic ต้นไม้ 

ในวิธีการที่กล่าวมานี้ไม่มีวิธีไหนที่ได้ผล ๑00 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการทดสอบโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อที่จะรู้แน่ว่า transgene ได้เข้าไป ในสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ แล้วหรือยัง โดยทั่วไป ในการออกแบบ trangene แต่ละครั้งนักวิทยาศาสตร์ จะ เพิ่มดีเอ็นเอบางส่วนที่ไม่เกียวข้องกับยีนที่ศึกษาอยู่ หากแต่เพิ่มเข้าไปเพื่อใช้เป็น marker ซึ่งเป็นเหมือนกับธง ที่บอกให้เห็นถึงความแตกต่าง ที่สามารถทดสอบได้ ง่าย ๆ ว่า สิ่งมีชีวิตอันไหนที่เมื่อ ผ่าน gene transfer แล้วอาจจะมี transgene อยู่ Marker ทีใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็คือ antibiotic resistance gene (antibiotic หรือ สารปฏิชีวนะเป็นสารเคมีที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมา เพื่อยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ) ซึ่งก็คือ ยีนที่สร้างโปรตีนขึ้นมาเพื่อทำลาย antibiotic หรือปกป้องสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ จากผลของ antibiotic ยกตัวอย่างเช่น antibiotic ที่ชื่อ Kanamycin จะยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโดยทั่วไป แต่ไม่สามารถยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียที่มี Kanamycin resistance gene 




หน้าที่ 4 - ข้อดี และ ตัวอย่างจีเอ็มโอ
เทคโนโลยีในการตัดต่อดีเอ็นเอ ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด มานานแล้ว ในปัจจุบันนี้ พืชผักผลไม้ที่เราบริโภคอยู่ทุกวัน โดยส่วนมากได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมาแล้ว อาจจะโดยการปรับปรุงพันธุ์ (breeding program) ซึ่งถ้าพูดกันไปตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว การปรับปรุงหรือคัดเลือกพันธุ์ซึ่งก็คือการที่เราผสมพืชต่างๆ พันธุ์แล้วคัดเลือกเฉพาะต้นที่มีคุณสมบัติที่ต้องการ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการที่เราเลือกต้นพึช ที่มียีนที่ควบคุมลักษณะที่เราต้องการ การถ่ายยีนนี้เป็นไปโดยธรรมชาติ ในกระบวนการที่ ละอองเรณูนำดีเอ็นเอจากต้นพ่อไปสู่ไข่ซึ่งมีดีเอ็นเอในต้นแม่ และในกระบวนการการสร้างลูก ๆ นี้ homologous recombination จะเกิดขึ้นระหว่างดีเอ็นเอจากพ่อและดีเอ็นเอจากแม่ ทำให้ได้ลูกที่มีดีเอ็นเอบางส่วน (หรือบางยีน) จากพ่อและบางส่วนจากแม่ 

GMO ต่างกับกระบวนการปรับปรุงพันธุ์แบบที่เราคุ้นเคยตรงที่ว่า นักวิทยาศาสตร์รู้แน่นอนว่า จะเพิ่มหรือลดยีนตัวไหน เพื่อที่จะทำให้ต้นพืชหรือสัตว์มีคุณสมบัติดังที่ต้องการ GMO ที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นเพียงส่วนน้อย หากแต่เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงมาก 

1. ต้นไม้สารพัดนึก

Bt toxin เป็นสารเคมีที่ปล่อยออกมาจาก แบคทีเรียที่อยู่ในดินชื่อ Bacillus Thuringiensis ตามธรรมชาติ สารเคมีนี้สามารถยับยั้ง การเติบโตของแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด โดยการจับตัวและทำลายช่องท้องของแมลง Bt toxin นี้ได้มีการผลิตและใช้เป็นสารป้องกันแมลงศัตรูพืชมานานแล้ว หากยังเป็นสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ได้ใน Organic garden (การปลูกพืชปลอดสารพิษ นิยมกันมากที่ต่างประเทศ พืชผักพวกนี้จะมีราคาแพงกว่าธรรมดา) ด้วยความที่ว่า สามารฆ่าแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่มีผลกระทบต่อมนุษย์ และด้วยความช่างคิดของนักวิยาศาสตร์ ประจวบกับความพร้อมในเทคโนโลยี ได้มีการใส่ยีนที่ผลิต BT toxin เข้าไปในต้นไม้หลายชนิด เช่นต้น มะเขือ ข้าวโพด มันฝรั่ง เมื่อมี่ยีนนี้แล้ว พืชก็สามารถที่จะผลิต สารเคมีนี้ (โดยอาศัยข้อมูลที่บันทึกอยู่ในดีเอ็นเอส่วนที่ใส่เข้าไป) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันต้นพืชจากแมลงศัตรูต่าง ๆ และ ลดการใช้สารเคมีลงไปได้อย่างมาก 

2. พืชที่ปลูกได้ในถิ่นทุรกันดาร

เช่นข้าวที่สามารถทนแล้งได้นานๆ เหมาะสำหรับปลูกใน Sub-Saharan Africa หรือข้าวที่สามารถทนน้ำท่วมใด้เป็นระยะเวลานานๆ พร้อมกันนี้ยังได้มีการค้นคว้าข้าว ที่สามารถปลูก ได้ในดินเค็ม หรือ ข้าวที่สามารถปลูกได้ใน ดินที่มีความหนาแน่นของอลูมิเนียมสูง 

3. ปลาแซลมอนยักษ์ 

ที่เลือกคุยปลาแซลมอนนี้ก็เพราะว่า อยากจะให้เห็นถึงความแพร่หลาย ของการใช้ เทคโนโลยีของการตัดต่อยีน (DNA recombinant technology) และจีเอ็มโอโดยทั่วไปทั้งในพืช และสัตว์ เจ้าปลาแซลมอนยักษ์เนี่ย ก็ตัวโตกว่าปกติ เพราะว่านักวิทยาศาสร์ไดใส่ดีเอ็นเอ ที่สร้างโปรตีน ที่ทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการเติบโต ของไอ้เจ้าปลาน้อยนี้เข้าไป จะว่ากันไปอย่างคร่าว ๆ ก็คือ ปลาแซลมอนเป็นปลาที่นิยมบริโภคกันมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะถ้าเกิดว่าจะย่างปลาเนี่ย พวกผมทองทั้งหลายก็จะไม่ต้องคิดกันไปถึงปลาอื่นเลยแหละ ข่าวล่าสุดจากหนังสือ Nature ประจำเดือนกรกฎาคมปีนี้ ก็คือมีบริษัทหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะขออนุญาติทำการผลิตและจำหน่ายปลา Atlantic แซลมอน (Salmon salar) ที่มียีนควบคุมการผลิตฮอร์โมนที่ได้มาจากปลา Pacific chinook แซลมอน (Oncorhynchus tshawytscha) ซึ่งไอ้เจ้ายีนนี้ก็ขอรำลึกกันหน่อยว่าก็คือส่วนของดีเอ็นเอ ในที่นี้ก็บรรจุข้อมูลเกียวกับการสร้างฮอร์โมนที่สำคัญ กับการเจริญเติบโตในปลา และเจ้าดีเอ็นเอที่ใส่ใน Pacific salmon นั้นก็ได้นำไปต่อกับดีเอ็นเออีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า promoter ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเริ่ม และเร่งกระบวนการ transcription (สร้างอาร์เอ็นเอ จาก ดีเอ็นเอ) เพราะฉะนั้น เจ้า pacific salmon ก็จะสามารถอาศัยข้อมูลในดีเอ็นเอที่ได้รับ (transgene) มาผลิตฮอร์โมนในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปลาที่ไม่มียีนที่เพิ่มขี้นมานี้ (สามารถใหญ่ขึ้นได้ถึงประมาณ 13 เท่า!!) 

4. ข้าวสีทอง

อีกในไม่นานหากมีการยอมรับ ผลิตภันท์ จีเอ็มโอมากขึ้น ข้าวที่เราทานอาจะเปลี่ยนแปลงไป่ไม่ขาวจ๋องอย่างที่เราคุ้น ๆ กัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่เพราะอะไร นอกเสียจากนักวิยาศาสตร์หัวใสได้คิดขึ้นมาว่า ในเมื่อมีคนบริโภคข้าวมากมายในโลกนี้โดยเฉพาะประเทศในโลกที่ 3 และเพราะด้วยความที่ไม่ค่อยจะมีอะไรจะบริโภค นอกเหนือจากข้าวนี่แหละทำให้คนที่ชอบกินข้าวเหล่านี้ เป็นโรคขาดสารอาหารกันไปเป็นแถว ๆ เพราะฉะนั้น เราก็ทำไมไม่ใส่สารอาหารเข้าไปข้างในเสียเลย โดยอาศัยเทคนิคทาง Genetic engineering ใน ปี 2542 Inko Potrykus (คนบนปก Time magazine July 31, 2000) และคนใช้แรงงานทั้งหลายในห้องทดลองที่ประเทศเยอรมนี ก็สามารถสร้างข้าวสีทอง ขึ้นมาได้เป็นรายแรกของโลก ข้าวพันธุ์นี้ดียังไง มันก็ดีตรงที่ในเมล็ดข้าว นอกจากมีสารอาหารคาร์โบไฮเดรตและอื่นๆ ที่มีอยู่ในข้าวโดยทั่วไปแล้วยังมีวิตามินเอเพิ่มเข้ามาด้วย และเพราะข้าวนี้สามารถสร้างวิตามินเอได้ มันจีงมีสีเหลืองสวยเหมือนทองเพราะว่าในกระบวนการที่สร้างวิตามินเอนี้ต้นข้าวต้องสร้าง beta carotene (มีสีเหลือง) ขึ้นมาก่อน ด้วย Recombinant DNA technology(การตัดต่อยีน)ยีนทั้งหลาย ที่ควบคุมหลายขั้นตอนในกระบวนการทางเคมีที่สร้าง beta carotene จากแบคทีเรีย Erwinia และ ต้น daffodils ก็ได้ถูกใส่เข้าไปในต้นข้าว 

5. Round-up ยาฆ่าแมลงแบบฉลาด 

Roundup เป็นชื่อของยาฆ่าหญ้า ที่บริษัท Monsanto ผลิตออกจำหน่าย มันมีประสิทธิภาพมาก จะถูกดูดซึมเข้าทางใบ และจะถูกลำเลียง ไปทุกส่วนรวมทั้งรากด้วย ประสิทธิภาพดีขนาดเหมาะ กับที่คนไทยเรียกได้ว่า "ฆ่าถอนรากถอนโคน" ยาฆ่าหญ้าชนิดนี้มีสารที่สำคัญคือ Glyphosate ซึ่งถูกค้นพบว่ามีผลฆ่าหญ้าอย่างไม่เลือกชนิดเมื่อปี 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Ernest Kaworski ซึ่งทำงานอยู่ที่ Monsanto และในปี 1972 เขาก็ได้ค้นพบว่าปฏิกิริยาหลักของสารนี้ ก็คือป้องกันการทำงานของเอ็นไซม์ enolpyruvylshikimate phosphate synthase (EPSP)ที่ทำหน้าที่ผลิต chorismate ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต amino acid ที่ชื่อว่า phenylalanine, tyrosine, and trytophan (amino acid คือส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างโปรตีน มีทั้งหมด 20 ชนิด) สัตว์จะมีวิธีการอื่นที่จะสร้าง amino acid เพราะฉะนั้น Roundup จึงไม่เป็นอันตรายต่อเรา หลังจากฆ่าหญ้าแล้ว Glyphosate จะย่อยสลายกลายเป็น คาร์บอนไดออกไซด์และกรด phosphonic ซึ่งเป็นสารที่ไม่อันตรายแต่อย่างใด รูปด้านล่างแสดงต้นคาโนลา (ใช้ทำน้ำมัน) รอบล้อมด้วยวัชพืชทั้งหลาย ก่อนฉีดด้านซ้ายและหลังฉีดด้วย Roundup ด้านล่าง 




หน้าที่ 5 - ข้อเสียและปัญหา
ปัญหาที่เผชิญ 

ขอกล่าวถึงปัญหาที่มีอยู่และที่อาจจะพบ การทดลองต่างๆเพื่อหาคำตอบของปัญหานั้น ยังไม่ได้ผลแน่ชัด หรือไม่ก็ยังไม่มีการทดลองเรื่องนั้น ส่วนปัญหาด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงนั้นก็ยังเป็นเพียงแค่การคาดเดา เท่านั้น ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า "อาจจะ"

1. อาจจะมีอันตรายโดยตรง

ตัวอย่างที่อาจจะเห็นได้ในข้อนี้ก็คือ Bt Toxin เพราะสมัยก่อนถึงแม้พืชจะได้รับการพ่นสารเคมีนี้ หากแต่เราสามารถที่จะล้างออกไปได้ แต่เมื่อต้นไม้สามารถสร้าง สารเคมีอันนี้ได้เอง เราจะต้องบริโภคสารเคมีนี้ลงไปด้วยโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นปริมาณของสารนี้ในร่างกายก็จะมากขึ้น ได้มีการทดลองหลายอันที่จะตอบคำถามนี้ แต่ที่ได้รับการพูดถึงกันมากก็คือการทดลองที่ใช้ Monarch Butterfly และ พบว่าเมื่อผีเสื้อชนิดนี้บริโภคละอองเรณูจากต้นไม้ ที่สามารถสร้าง Bt toxin ได้จะทำให้มีจำนวนลดน้อยลง หลักการทำงานของสารเคมีนี้ก็คือมันจะจับกับ สารจำเพาะที่อยู่ในช่องท้องของแมลง แต่ถึงแม้ว่า จะมีการต่อต้านกันทั่วไป หากต้นไม้สารพัดนึกนี้ ก็ได้เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีในหมู่ชาวเกษตรกร ในประเทศสหรัฐอเมริกา (รัฐบาลได้อนุญาติให้ปลูกได้) 

2. อาจจะไม่คุ้มทุน

ข้อที่น่าคิดข้อต่อไปคือ ถ้าพืชที่เราปลูกต่างก็มี Bt toxin ในเวลาไม่นานแมลงต่าง ๆ จะ สามารถที่จะ สร้าง resistance (หรือดื้อ) ต่อ Bt toxin นี้ (สร้าง resistance เป็นขบวนการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะความที่ ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อสิ่งมีชีวิตได้ เผชิญกับภาวะบางอย่างที่เป็นอันตราย เช่นยาฆ่าแมลงในที่นี้ สิ่งมีชีวิตที่ไม่พร้อมที่จะอยู่ในภาวะนั้นจะถูกกำจัด หากสิ่งมีชีวิตที่มีดีเอ็นเอที่ปลี่ยนแปลงไป ทำให้อยู่ในภาวะอย่างนั้นได้ ก็จะสามารถแพร่พันธุ์ต่อไป ขอย้ำว่าการดื้อยานี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่า ดีเอ็นเอนั้นเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่อยู่นิ่ง ๆ อย่างที่เรานึกถึง) และถ้าหากแมลงที่สามารถทำลายสารเคมีที่อยู่ใน transgenic plants แพร่พันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ ปัญหานี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะใน จีเอ็มโอเท่านั้น หากเกิดขึ้นในแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ ที่โดนฉีดด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ค้องศึกษากันใหม่ ลงทุนกันใหม่ และไม่คุ้มทุน

ปัญหาที่พบอีกอย่างก็คือ พืชที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเพาะปลูกได้เฉพาะที่เท่านั้น หากนำไปปลูกในภูมิอากาศที่แตกต่าง กันไปจะให้ผลที่ไม่คุ้มค่า และบางครั้งยังมีพบว่า GMO ยังให้ผลผลิตที่ต่ำกว่าสายพันธุ์ปกติ แต่อย่างไรก็ตามการทดลองและการวัดค่ายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

3. (อาจจะ)มีบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าของไม่กี่บริษัท (มีการคว้าจากภาครัฐเช่นกัน) 

ขอยกตัวอย่าง Round-up ยาฆ่าแมลงแบบฉลาด ฟังๆ ดูก็ท่าทางว่าจะเป็นยาฆ่าแมลงที่ดี และไม่เห็นจะเกี่ยวกับ จีเอ็มโอตรงไหน แต่อย่าเลื่อนสายตาไปไหน อ่านต่อถึงจะรู้.... หลังจากที่ Roundup ได้เริ่มวางตลาดและเป็นที่แพร่หลาย ขายในหลายประเทศในชื่อที่ต่างกันไปแล้ว Monsanto ก็มีความคิดดีขึ้นมาอีกว่า ตอนนี้ Roundup ก็เป็นที่แพร่หลาย วิธีการใช้ก็แสนง่ายเพียงแต่ระวังไม่ให้ สารฆ่าหญ้าไปโดนกับต้นไม้ที่ไม่ใช่วัชชพืช ถ้าเราผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักชนิดต่าง ๆ ที่ไม่มีผลกระทบเมื่อโดนฉีดด้วย Roundup ก็จะเป็นการดีเป็นอย่างยิ่ง และนั่นก็เป็นสิ่งที่ Monsanto ผลิตออกมาเมื่อปี 1996 เมล็ดพันธ์ที่มียีน EPSP ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่สามารถถูกบล๊อกโดยสาร Glyphosate ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นฟังดูก็เข้าทีแต่หากจะคิดเข้าไปอีกนิด จะเห็นได้ว่า เป็นการผูกตลาดของ Monsanto ซึ่งอาจจะมีผลให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถที่จะแข่งขันกับเกษตรกรรายใหญ่ และล้มละลายไปได้ แล้วทำกิจการอย่างนี้ ethical (มีมนุษยธรรม) แค่ไหน?

อีกตัวอย่างคือ เมล็ดพันธุ์เป็นหมัน ฟังดูก็อาจจะยังงง เมล็ดพันธุ์เป็นหมันนี้ เป็นเมล็ดพืชผักที่ถูกเปลี่ยนแปลงทางสารพันธุกรรมโดยวิธีที่เรียกเป็นรวม ๆ ว่า Terminator technology เมล็ดผักเป็นหมันนี้ส่วนมากจะผลิตโดยบริษัท Biotechnology ใหญ่ ๆ เพราะต้องใช้ทุนสูงมากในการศึกษาค้นคว้า ที่จะสามารถทำให้ผักชนิดนี้โตได้ตามปกติ หรือดีขึ้นไปอีกหากแต่พืชเหล่านี้ จะสร้างเมล็ดที่เป็นหมัน ซึ่งหมายถึงเมล็ดที่ไม่สามารถสร้าง ต้นไม้รุ่นต่อไปได้ เพราะมียีนที่ถูกใส่เข้าไปเพื่อโปรแกรม ให้เซลล์ตายได้ เมื่อผ่านการสร้างเมล็ด (embryogenesis) แผนภาพสรุปให้เห็นอย่างคร่าวๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นผลกระทบเกี่ยวกับ terminator เทคโนโลยีก็จะมีน้อยกว่าสำหรับ เกษตรกรรายใหญ่ ที่มีเงินทุนซื้อเมล็ดพันธุ์พืชได้ทุกฤดูปลูก หากเกษตรกรรายย่อย ที่มีเงินทุนน้อย จะถูกผลกระทบมากว่า เพราะว่าเพื่อที่จะไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์บ่อย ๆ เกษตรกรจะซื้อมาหนึ่งครั้งแล้วเก็บเอาเมล็ดที่ได้จากรุ่นนั้น มาเป็นเมล็ดพันธุ์ของรุ่นต่อไป แต่เพราะ Terminator เทคโนโลยีเกษตรกรก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป โปรดอย่าลืมว่าที่ Green Revolution ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะว่าเกษตรกรสามารถเลือกสายพันธุ์ด้วยตัวเองได้ จากเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง และจากของเพื่อนบ้าน

อีกอย่างคือ ต้นทุนที่ต่ำลง ก็ใช่แน่ว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น นี่อาจจะหลายถึงราคาผลผลิตต่ำลงด้วย และกำไรโดยร่วมลดลง ทำให้เขาไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่ๆ ได้ 

มีแต่ศูนย์วิจัยของรัฐเท่านั้น ที่สนใจค้นคว้าพืชเพื่อผู้หิวโหย ส่วนบริษัทใหญ่ๆนั้นเน้นเฉพาะพืชอุตสาหกรรม ผิดวัตถุประสงค์ที่หลายคนอยากให้ GMO แก้ปัญหาความอดอยาก

4. อาจจะเป็นอันตรายกับสายพันธุ์ธรรมชาติ

ตัวอย่างที่เห็นชัดในข้อนี้ก็คือ ปลาเซลมอลยักษ์ ปลาแปลงพันธุ์นี้ไม่ได้ถูกโจมตีมากในแง่ของอันตราย ในการบริโภคเพราะยีนที่เอามาใส่นั้นมีต้นกำเนิด มาจากปลาซึ่งเป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน หากแต่มีการถกเถียงกันมากถึงผลร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ต่อสมดุลธรรมชาติหากปลานี้ถูกปล่อยออกไป เนื่องจากปลาแปลงพันธุ์นี้โตกว่าปลาที่ไม่มีการแปลงพันธุ์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจุดประสงค์ใหญ่ที่สร้างปลานี้ขึ้นมา ก็เพื่อป้อนบริษัทเลี้ยงปลาในบ่อเทียม หากแต่ว่าถ้าปลาพวกนี้หลุดออกไปจากบ่อโดยอุบัติเหตุแล้ว จะมีผลกระทบกับปลาชนิดนี้ที่อยู่ในธรรมชาติ และไม่ถูกแปลงพันธุ์ ขณะนี้เรายังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาต่างก็ได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป 

หรืออืกตัวอย่างหนึ่งก็คือเมล็ดพันธุ์แบบฉลาดที่กล่าวใว้ข้างบน ที่ถูกโจมตีเป็นอย่างมาก เพราะว่า ถ้าหากแมลงนำละอองเกสรจากต้นพืชนี้ไปผสมกับพืชในไร่ข้าง ๆ ที่ไม่ผ่าน Terminator เทคโนโลยี พืชรุ่นต่อไปบางส่วนจะกลายเป็นหมันไปได้ เจ้าของไร่ข้าง ๆ ก็จะไม่ชอบใจเท่าไหร่ แต่หากบริษัทเมล็ดพันธุ์ก็ออกมาต้อแย้งว่า เมล็ดพันธุ์ที่สร้างออกมาจำหน่ายนั้นจะ เป็นเฉพาะพวกที่ต้อง self-fertilization (ในดอกจะมีเกสรตัวผู้และตัวเมีย ผสมข้ามดอกไม่ได้ หรือยากมาก)เท่านั้น แต่ยังไงก็ไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าการผสมระหว่างต้นจะไม่เกิดขึ้น

หลายคนสงสัยว่า แล้วทำไมไม่ใช้วิทยาศาสตร์ทดลอง เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป บทต่อไปผู้เขียนจะมาบอกว่า ทำไมวิทยาศาสตร์แก้ปัญหานี้ไม่ได้ และไม่สามารถให้คำตอบแบบ ใช่-ไม่ใช่ หรือ ดี-ไม่ดี ได้





หน้าที่ 6 - วิทยศาสตร์ ไม่สามารถให้คำตอบได้
หากอ่านข้อมูลที่กล่าวมาโดยละเอียด ผู้เขียนเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ในขณะนี้ และในอนาคตอันใกล้(อย่างน้อย 5 ปี) การถกเถียงหลายครั้งที่ผ่านเน้นที่ตัววิทยศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ใช้ พร้อมกับพยายามถกเถียงเรื่องอันตรายจาก GMO สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนมองข้ามประเด็นสำคัญไป ขณะนี้เราไม่ได้เผขิญกับ อันตราย แต่กำลังเผชิญกับ ความไม่แน่นอน เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถสรุปได้ ว่าการใช้ GMO จะส่งผลอย่างไรบ้าง ดังนั้นเราจะพูดถึงคำว่าอันตรายไม่ได้ทีเดียวนัก ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางด้าน มนุษยธรรม และวัฒนธรรมความเคยชิน เสียมากกว่า ผู้เขียนขอบรรยายว่า ทำไมวิทยศาสตร์ ตอบปัญหาไม่ได้

1. การทดลองไม่สามารถทำซ้ำได้

จากข้อมูลที่ได้เขียนใว้ จะพบว่าการผลิต GMO ในวงการอุตสหกรรมนั้น เป็นแบบ Hit and Miss ซึ่งก็คือผลที่ได้จะไม่สามารถทำซ้ำได้เหมือนเดิม ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ผลการทดลองที่ได้มา เชื่อถือไม่ได้

2. มีองค์ประกอบหลายอย่าง ในชีวิตจริง

การทดลองปลูกต้นไม้ GMO ในไร่ใหญ่ๆเพื่อทำการศึกษา ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้เช่นกัน เพราะระยะเวลาเก็บผลการทดลองนั้นสั้น และมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้อง ซึ่งในแต่ละปัจจัยก็ขึ้นอยู่กับท้องที่ เช่น นก แมลง หนู.... และที่แน่ๆคือ ไร่การทดลองนั้น ย่อมไม่เหมือนการปลูกในชีวิตจริง หรือการทำเป็นอุตสาหกรรมได้ ขอย้ำว่า การทดลองนั้น เน้นที่ปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดเท่านั้น โดยพยายามหาวิธีทดลองที่ตัดปัจจัยอื่นออกไปได้ แต่ชีวิตจริงนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบมากมาย

3. การทดลองเพื่อให้ได้ผลแน่นอนนั้น ช้า ไม่ทันใจภาคธุรกิจ

หากรัฐบาลจะต้องตัดสินใจ ว่าจะเดินหน้าต่อไปกับ GMO หรือไม่ โดยรอผลการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ อาจจะต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า การทดลองเพื่อสรุปผลนั้น จะต้องปราณีต รอบคอบ และไม่รีบร้อน แต่มีหลายคนพยายามใช้ผลการทดลองมาอ้างอิง เพื่อตัดสินใจวันนี้วันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

4. การทดลองเล็กๆ แต่หากได้ผลชัด จะได้รับความสนใจมาก

ขอยกตัวอย่างเพื่ออธิบายข้อนี้ เมื่อต้นปี 2543, Arpad Pusztai ได้ทดลองพบว่า หัวมันฝรั่งที่เปลี่ยนแปลงพันธุกรรม มีอันตรายกับหนู ข่าวนี้โด่งดังมาก ได้รับความสนใจ แต่เกือบทุกคนไม่ได้สนใจว่า เขาทดลองอย่างไร !! การที่ให้หนูกินแต่มันฝรั่งล้วนๆ และกินได้น้อย จะทำให้หนูขาดสารอาหารอยู่แล้ว ทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ไม่มีทางสรุปผลได้ จะให้หนูกินอย่างอื่นด้วยก็ไม่ได้ เพราะจะมีตัวแปรหลายตัวเกินไป 

5.ผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้เวลานานกว่าจะรู้

ยังไม่มีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันว่ามันอันตรายจริง แต่ไม่ได้หมายความว่า การไม่พบหลักฐานเป็นการยืนยันว่าไม่มีอันตราย ผู้เขียนเชื่อว่ากว่าจะศึกษาผลกระทบได้ทั้งหมดแน่นอน จะใช้เวลานานมาก

6. เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้

อาจจะงงสักนิด แต่หลายท่านคงจำกรณีสาร CFC ได้ ขณะที่มีการใช้ในวงการอุตสาหกรรม อย่างกว้างขวาง ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยว่า สารCFC จะทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ หลายคนมองว่า GMO อาจจะเป็นเช่นเดียวกัน เราอาจจะไม่รู้ว่าเราไม่รู้ !! เรากลัววิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดได้ในอนาคต !! 

7. ตัววิทยาศาสตร์เองไม่ได้รับความเชื่อถือ

ทำไมยุโรปถึงได้ต่อต้าน GMO กันนัก นอกจากว่าพวกเขามีอันจะกิน ไม่รีบร้อนที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีนี้ อีกสาเหตก็คือกรณี BSE หรือ โรควัวบ้า ที่ยังคงจำกันได้ ก่อนหน้านี้มีแต่นักวิทยศาสตร์บอกว่า โอกาสจะเกิดขึ้นน้อยมาก หรือ ไม่มีเลย หรือพูดว่า "ยังไม่มีอะไรชี้ว่าจะเป็นอันตราย" เหตการณ์นี้ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือวิทยศาสตร์ และขาดความเชื่อถือที่นักวิทยศาสตร์จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมกับไม่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้





หน้าที่ 7 - ส่งท้าย
ผู้เขียนมั่นใจว่าประโยชน์ที่จะได้รับจาก GMO นั้นมีอย่างแน่นอนและเห็นได้ชัด ติดอยู่ที่ว่าจะนำมาใช้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีตัวนี้กระจายสู่ ประชากรผู้หิวโหยได้อย่างทั่วถึง ขอย้ำอีกครั้งว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญ ไม่ใช่อันตราย แต่เป็นความไม่แน่นอนของผลกระทบที่ยังไม่เกิดขึ้น เรากำลังต้องตัดสินอยู่บนความไม่แน่นอน โดยใช้หลักมนุษยธรรม ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ใช่ผู้วางแผนนโยบายของประเทศ หรือ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนตัดสินใจ หากแต่อยากเสนอแนะแนวทางที่เห็นว่า หากทำแล้วจะยังมาซึ่งประโยชน์ต่อส่วนรวม

ยกเลิกเมล็ดพันธุ์เป็นหมัน ถึงแม้การกระทำอันนี้จะทำให้บริษัทเจ้าของควบคุมและเป็นเจ้าของ แต่อย่าลืมว่านี่เป็นข้อจำกัดต่อเกษตรกรที่ยากจน ที่ไม่สามารถเข้าซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ทุกปี Green Revolution ครั้งแรก สำเร็จลงได้ก็เพราะเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดใว้ และนำมาปลูก เหมือนกับการคัดเลือกพันธุ์ไปในตัวในระยะเวลาที่นาน โดยบริษัทอาจจะใช้ Plant Variaty Protection (PVP) เพื่อป้องกันพืชที่บริษัทค้นคว้ามาได้ แต่ว่าอาจจะให้พืชเป็น Hybrid โดยเมล็ดที่ออกมา เปลี่ยนไปจากพันธุ์เดิมบ้าง เกษตรกรที่อยากซื้อก็ยังซื้อเมล็ดมาปลูกได้ หากซื้อไม่ได้ก็นำเมล็ด (ที่ไม่ค่อยเหมือนพันธุ์เดิม) นี้มาปลูกต่อ

มีการให้ประโยชน์ต่อเจ้าของพันธุ์พืชที่นำมาดัดแปลง เช่นข้าวหอมมะลิของไทยที่โด่งดัง หากมีการนำมาปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ ต้องกำหนดว่าให้ผลประโยชน์กับไทยด้วย หากทำเช่นนี้ก็จะได้รับความร่วมมือจากประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพราะทรัพยากรชีวภาพส่วนใหญ่ อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

ไม่ใช้ความกลัวในการตัดสินปัญหาโดยรวม ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของ GMO ให้เห็นหลายตัวอย่าง จะเห็นได้ชัดว่าแต่ละอย่างมีผลประโยชน์และต้องการการควบคุมที่ต่างกันไป หากเราจะมาพูดถึง ผลกระทบโดยรวมนั้นคงยาก เราอาจจะต้องตัดสินการใช้ GMO แต่ละอย่างแต่ละชนิดแตกต่างกันไป การทดลองการควบคุมต้องมีการวางแผนที่ดี และแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด

ประชาชนต้องรับรู้สิ่งที่เขาบริโภค นั่นคือต้องมีการติดฉลากบอกประชาให้แน่ชัดว่า ผลผลิตนั้นมี GMO รวมอยู่ด้วยหรือไม่ เท่าที่จะทำได้ (การตรวจวัด GMO ที่ปะปนมาในรูปแบบต่างๆ นั้นยุ่งยาก)

เกษรตรกรรมในภายภาคหน้า ต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่าเดิม และจะต้องเป็นพิษเป็นภัยน้อยกว่าเดิม ผู้เขียนเชื่อว่า GMO เป็นทางออกแก่เกษตรกรผู้ยากจนในตอนนี้ แต่ทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านทั้งสองฝ่าย กำลังสาดโคลนใส่กัน เหมือนข่าวที่ออกมามากในช่วงที่ผ่านมา เราต้องหาทางเจรจากันด้วยเหตผล และจะต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ เราต้องให้ความสำคัญกับทุกๆฝ่าย และขอย้ำอีกทีว่าอยากจะให้คิดถึงคนอื่น ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา ที่ไม่มีสิทธิได้ออกความคิดเห็นในหัวข้อเรื่องนี้ หากแต่อาจเป็นพวกที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด จากจีเอ็มโอ หากแต่การทดลองที่รัดกุมรอบคอบเพื่อที่จะป้องกันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชิตต่าง ๆ ในธรรมชาติก็ต้องมีการดำเนินงานควบคู่กันไป ด้วยความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น